วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

SAN คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร?



ข้อมูล (Information) เปรียบเสมือนสินทรัพย์ที่ทรงคุณค่าขององค์กรธุรกิจ และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการประมวลผล (Computing) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกจัดเก็บลงบนสื่อสำหรับเก็บข้อมูล (Media Storage) และถูกดึงมาใช้ด้วยโปรแกรม Application ต่าง ๆ ทั้งแบบที่ประมวลผลอยู่บนเครื่อง Server และเครื่องลูกข่าย (Client) และด้วยความที่ข้อมูลมีการจัดเก็บเพิ่มขึ้นและมีการเรียกใช้แทบทุกวินาที ดังนั้นข้อมูลจึงเปรียบเสมือนเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจด้วย
ข้อมูลในองค์กรธุรกิจได้ ทวีความสำคัญและเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างยิ่งยวด (Exponentially)  ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ จึงพยายามสรรหาวิธีการในการจัดเก็บข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้เต็มขีดความ สามารถ (Capacity) ของระบบ ขนาดความจุที่เหมาะสม (Scalability) และมีความยืดหยุ่น (Flexibility) สูง ในขณะที่การควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้อมูลสามารถควบคุมได้ ซึ่งประเด็นความท้าทายหลักอยู่ที่การบริการจัดการข้อมูลและต้นทุนในการจัด เก็บข้อมูลไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบด้วย
         1. การเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของข้อมูล (Dramatic Growth in Data) ที่รวมทั้งข้อมูลรายการธุรกรรม (Transaction Data) และข้อมูลอ้างอิง (Reference Data)
         2. ข้อกำหนด (Requirements) ที่เพิ่มมากขึ้นในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้พร้อมสำหรับการเรียกใช้งานและ สามารถกู้ข้อมูล (Data Recovery) ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นหลักประกันให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้และสามารถกอบกู้ระบบจาก ภัยพิบัติต่าง ๆ (Disaster Recovery)
         3. ความต้องการที่จะเข้าถึงข้อมูล (Data Accessibility) จากส่วนต่าง ๆ ขององค์กร เช่น ผู้ใช้งานทั่วไป ระบบต่าง ๆ หรือโปรแกรม Application ต่าง ๆ จากทั่วทั้งองค์กร ซึ่งจะก่อให้เกิดการประสานสอดคล้องกัน (Collaboration) ที่ดีขึ้น และเกิดการพัฒนาขีดความสามารถ (Capability) และบริการ (Services) อันมีแรงขับดันมาจากข้อมูล (Data-Driven)

นอกเหนือจากความท้าทาย ข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว ข้อจำกัดด้านงบประมาณยังทำให้เกิดแรงผลักดันในการที่จะหาวิธีที่จะจัดเก็บ ข้อมูลที่ดีขึ้นด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง ซึ่งที่ผ่านมานิยมใช้ระบบ Direct Attach Storage (DAS) ที่เชื่อมต่อแหล่งจัดเก็บข้อมูลเสริมเข้ากับ Server หรือ Platform โดยตรง แต่มีข้อจำกัดตรงที่ DAS เหมาะสมกับระบบที่มีจำนวนของ Server หรือ Platform มากนัก และประสบปัญหาด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการข้อมูลตามมาเมื่อมีการเพิ่มจำนวนของ Server และการเพิ่มปริมาณของข้อมูลเมื่อเวลาผ่านไป อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) ที่จำกัด เป็นต้น
รูปที่ 1 ระบบ Direct Attached Storage (DAS)
[source:
www.storagesearch.com]
จากปัญหาและข้อจำกัดของ ระบบ DAS ที่กล่าวมาข้างต้น ระบบการจัดเก็บข้อมูลในเครือข่ายหรือ Storage Area Network (SAN) ได้ถูกพัฒนาขึ้นและเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขและลดข้อจำกัดของระบบการจัดเก็บ ข้อมูลแบบ DAS ซึ่ง SAN กำลังได้รับความนิยมในวงการระบบสารสนเทศสำหรับธุรกิจ (Enterprise IT) ซึ่งองค์กรที่มีการนำระบบ SAN ต่างก็มีความต้องการที่จะลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ข้อมูลทางธุรกิจ

วิวัฒนาการของระบบ SAN
ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นและคาด การณ์ว่าจะเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากมายในอนาคตก่อให้เกิดความต้องการพื้นที่ ในการจัดเก็บข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้นเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีต้นทุนต่ำลง ในขณะที่ความต้องการในการใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศในองค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน แปลงวิธีการจัดเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิมมาเป็นแบบเครือข่าย
ระบบ DAS ที่กล่าวมาข้างต้น (แสดงในรูปที่ 1) เป็นระบบที่เคยถูกนำมาใช้ในการตอบสนองความต้องการในการจัดเก็บข้อมูลโดยมี หลักการทั่วไป คือ การเชื่อมต่ออุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูลเสริมเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้ง แบบภายใน (Internal) และแบบ Point-to-Point
ในยุคต้น ๆ ของ DAS นั้น การเชื่อมต่อแบบ Small Computer System Interface หรือ SCSI เป็นเทคนิคมาตรฐานที่นำมาใช้อย่างกว้างขวางในการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ กับอุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูล แต่ด้วยข้อจำกัดด้านระยะทางและความเร็วในการส่งถ่ายข้อมูลทำให้เกิดการพัฒนา เทคโนโลยี Fibre Channel (FC) เพื่อใช้ในการส่งถ่ายข้อมูลจาก SCSI โดยมี T11 (www.t11.org) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนามาตรฐาน Fibre Channels และ Fibre Channel Industry Association หรือ FCIA (www.fibrechannel.org) เป็นหน่วยงานในการทดสอบอุปกรณ์ที่ใช้กับ Fibre Channel และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปัจจุบัน Fibre Channel สามารถส่งถ่ายข้อมูลได้สูงถึง 2 Gbps และอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้สามารถส่งถ่ายข้อมูลได้ถึง 10 Gbps และในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ได้เกิดแรงผลักดันให้เกิดความต้องการระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบเครือข่าย เนื่องจากข้อจำกัดด้านต่าง ๆ ของระบบ DAS ดังนี้
         1. แหล่งจัดเก็บข้อมูลเป็นลักษณะเฉพาะสำหรับแต่ละระบบหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่สามารถเข้าถึงได้จากระบบหรือเครื่องคอมพิวเตอร์อื่น
         2. ผลจากข้อ 1 ทำให้เกิดการใช้แหล่งจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
         3. การสำรองข้อมูลใช้เวลานานและเป็นไปอย่างยากลำบาก
         4. การบริหารจัดการข้อมูลมีความซับซ้อนและสิ้นเปลืองทรัพยากรมาก

ปัจจัยเหล่านี้เป็นแรง ผลักดันที่นำไปสู่การพัฒนาระบบ Storage Area Network หรือ SAN (แสดงในรูปที่ 2) ซึ่งประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ (Hosts) และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage Devices) เชื่อมต่อผ่าน Fibre Channels Switch ที่อาจมีมากกว่า 1 จุด ซึ่งในระบบ SAN โปรแกรม application ต่าง ๆ สามารถใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลร่วมกัน
รูปที่ 2 ระบบ Storage Area Network (SAN)
[source:
www.allsan.com]
SAN เป็นวิธีใหม่ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลเข้ากับ Server ซึ่งช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถหลีกเลี่ยงคอขวด (Bottleneck) จากการจราจรทางระบบเครือข่าย  ข้อมูลสามารถถ่ายโอนจาก Storage ไปยัง Server ได้โดยตรงด้วยความเร็วสูงด้วยวิธีต่าง ๆ ด้งนี้
         1. Server to storage เป็นวิธีดั้งเดิมในการทำงานร่วมกับ Storage Device ซึ่งอาจเป็นการเข้าถึง (access) แบบตามลำดับ (Serial) หรือเข้าถึงจากหลาย ๆ Server ร่วมกัน
         2. Server to Server ใช้ในกรณีที่มีการส่งถ่ายข้อมูลในประมาณสูงระหว่าง Server
         3. Storage to storage ข้อมูลสามารถถ่ายโอนระหว่าง Storage Device โดยไม่ผ่านหรือพึ่งพา Server

แรงผลักดันที่อยู่เบื้อง หลัง SAN คือ การแบ่งปันหรือการใช้งานร่วมกันของอุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูลทั้งแบบ Primary Storage และ Secondary Storage, ผลผลิตของผู้ใช้งานที่ดีขึ้น และลดความซับซ้อนในการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนสองส่วนประกอบหลักดังนี้
         1. Storage วัตถุประสงค์ของการใช้งานร่วมกันของ storage คือ การทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า 1 เครื่องในระบบเครือข่ายสามารถใช้อุปกรณ์ในการเก็บข้อมูลร่วมกันได้ อันเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้อมูล
         2. Data วัตถุประสงค์ของการใช้งานร่วมกันของ data คือ การทำให้ application และผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงไฟล์ข้อมูลเดียวกันได้ โดยมีความเร็วที่สูงกว่าการใช้ไฟล์ข้อมูลร่วมกันผ่านทางระบบ LAN


ประโยชน์ที่ได้รับจากระบบ SAN
ประโยชน์ที่ระบบ SAN มีต่อธุรกิจนั้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการของการจัดเก็บข้อมูลสำหรับธุรกิจที่ข้อมูลเป็น หัวใจสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพและความสำเร็จของธุรกิจ ดังนี้
         • ค่าใช้จ่ายรวมในการครอบครองที่ต่ำกว่า (Total Cost of Ownership) ในขณะที่การลงทุนในเบื้องต้นของระบบ SAN อาจจะสูงกว่าระบบ DAS แต่ความยืดหยุ่น (Flexibility) และความเหมาะสม (Scalability) ของ SAN จะช่วยลดต้นทุนและความซับซ้อนในการบริหารจัดการข้อมูลและคุ้มค่าต่อการลงทุน ในระยะยาว อีกทั้งระบบ SAN ยังสามารถออกแบบให้เหมาะสมต่อความต้องการใช้งานเฉพาะสำหรับองค์กรในทุกระดับ และสามารถขยายขีดความสามารถได้โดยไม่ทำให้ระบบโดยรวมต้องหยุดชะงัก

         • การบริหารจัดการจากจุดเดียว (Centralized Storage Management) โดยการบริหารจัดการแหล่งจัดเก็บข้อมูลจากหลาย ๆ จุด โดยใช้เจ้าหน้าที่ดูแลระบบจำนวนไม่มากนัก ซึ่งในระบบ SAN นั้น เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ 1 คน อาจจะสามารถบริหารจัดการได้เป็น 4-7 เท่าของเจ้าหน้าที่ดูและระบบ DAS อันเป็นการประหยัดทรัพยากรบุคคลและลดต้นทุนในการบริหารจัดการ

         • การปกป้องข้อมูลที่ดีเยี่ยม (Superior Data Protection) ด้วยโครงสร้างระบบของ SAN สามารถเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานในการสำรองและกู้ข้อมูล (Backup and Recovery) หรือการกู้ระบบจากภัยพิบัติต่าง ๆ (Disaster Recovery) ที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ

         • การเพิ่มผลผลิตของผู้ใช้งาน (Increased User Productivity) ด้วยการลดข้อจำกัดด้านความแตกต่างทางเทคโนโลยีระหว่างข้อมูลและผู้ใช้งาน ทั่วทั้งองค์กร  SAN ช่วยให้เกิดการร่วมปฏิบัติงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายอันเป็นการสร้างผลกำไรให้องค์กร

ระบบจัดเก็บข้อมูลในเครือ ข่ายหรือ Storage Area Network (SAN) ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมีแรงผลักดันที่จะตอบสนองความต้องการของธุรกิจที่มี พื้นฐานของการดำเนินธุรกิจและผลลัพธ์ขององค์กรอยู่บนข้อมูล (Data) เป็นปัจจัยขับดันหลัก และ SAN ก็เป็นหนึ่งในระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว  แต่อย่างไรก็ตาม การนำระบบ SAN มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ยังคงต้องอาศัยความเข้าใจฟังก์ชั่นการทำงานต่าง ๆ ของ SAN  การแปลความต้องการของผู้ใช้งานให้เป็นข้อกำหนดในการออกแบบระบบ การวางระบบและการวางแผนการบริหารจัดการข้อมูลที่ดีก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่ ขาดไม่ได้ นอกเหนือจากการเลือกสรรอุปกรณ์ของระบบให้ตรงกับความต้องการใช้งานที่แท้จริง และสามารถขยายระบบได้ในอนาคต

ที่มา: Micro Computer, Vol.26, No.275, June 2008

1 ความคิดเห็น: