ก็ถึงคราวรีวิว ASUS PadFone กันแล้วนะครับ (กว่าจะปล่อยรีวิวได้ ^^'') สำหรับ ASUS PadFone นั้นเป็นสมาร์ทโฟนที่สามารถรวมร่างกับแท็บเล็ตได้ แถมยังมีคีย์บอร์ด Dock ไว้พิมพ์และปากกา Stylus Headset ไว้คุยโทรศัพท์แทนอีกด้วย ถือเป็นอุปกรณ์แปลกใหม่ในตลาดที่ยังไม่มีเจ้าไหนทำมาก่อน ไอเดียดีครับ แต่ด้านการใช้งานต้องมาดูกันต่อไปในรีวิวนี้

สเปคเครื่อง
ต้องบอกก่อนว่าฮาร์ดแวร์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่สมาร์ทโฟนไม่ว่าจะชิปประมวลผลหรือกล้อง ตัวแท็บเล็ตเป็นเพียง Dock ให้สมาร์ทโฟนได้ใส่เท่านั้น ถ้าไม่มีสมาร์ทโฟนแท็บเล็ตก็จะไม่สามารถใช้งานได้

ชิปประมวลผลใช้ของ Qualcomm Snapdragon S4 MSM8260A ซีพียู dual-core ARM Cortex-A15 ความเร็ว 1.5GHz จีพียู Adreno 225 เป็นรุ่นรองรับ 3G แต่ทว่าจะใช้ได้แค่คลื่น 900 AIS และ 2100 MHz เท่านั้นของ TrueMove H และ dtac ที่ใช้คลื่น 850 MHz หมดสิทธิ์ครับ 

แบตเตอรี่ให้มาน้อยไปนิด 1520 mAh แต่ที่ตัวแท็บเล็ตจะมีแบตขนาด 6600 mAh อยู่ เมื่อรวมร่างแล้วสามารถชาร์จให้กับสมาร์ทโฟนได้


รูปลักษณ์ สัมผัส ความรู้สึก
สมาร์ทโฟน ดีไซน์ตัวเครื่องด้านหน้าส่วนบนจะเหมือนกับสมาร์ทโฟนทั่วไป แต่ส่วนล่างจะแตกต่างเล็กน้อยตรงขอบจะมีการตัดให้ลาดเอียงลงมา (ดูรูปประกอบจะเข้าใจมากกว่าครับ) น้ำหนักตัวเครื่องเบา วัสดุถึงแม้ด้านหลังจะเป็นพลาสติกแต่ก็ดูไม่กิ๊กก๊อก 

แท็บเล็ต หรือ PadStation ตัวเครื่องด้านบนจะมีปุ่มเลื่อนสำหรับเปิดฝาด้านหลังออกมาเพื่อที่จะใช้สมาร์ทโฟนเข้าไปได้ การเชื่อมต่อจะใช้ช่องเสียบ Micro USB และ Micro HDMI เมื่อประกอบร่างแล้วก็ดูหนาแน่นแข็งแรงดี ถ้าปิดฝาลงก็จะมีการล็อกให้อัตโนมัติ ดีไซน์ด้านหลังราบเรียบไม่มีลายวัสดุก็ ok ดี มีลำโพงตัวใหญ่อยู่ทางซ้ายมือและลำโพงตัวเล็กอยู่ทางขวามือ ตัวเครื่องหนาและหนักไปหน่อย (แท็บเล็ตหนา 13.5 มม. หนัก 128 + 716 = 844 กรัม สมาร์ทโฟน + แท็บเล็ต)

คีย์บอร์ด Dock รูปร่างหน้าตาเหมือนกับของ Transformer รุ่นแรกเป็นแบบหนาและเหลี่ยม ไม่โค้งและแหลมเหมือนรุ่นหลัง ส่วนจะใช้กับคีย์บอร์ด Transformer รุ่นแรกได้ไหม อันนี้ทางเว็บนอกมีการทดสอบกันแล้วสามารถใช้แทนกันได้ครับ



หน้าจอ
สมาร์ทโฟน ใช้จอ Super AMOLED ความละเอียด 960 x 540 สีที่แสดงออกมาดูสด มุมมองกว้าง ซึ่งถ้านำไปเทียบกับจอ IPS ของ ASUS Eee Pad MeMO ME171 และ AMOLED ของ HTC Desire แล้ว จอ PadFone (สมาร์ทโฟน) จะดูดีสุด

แท็บเล็ต ใช้จอ IPS ความละเอียด 1280 x 800 สีไม่สดเท่า Super AMOLED



ช่องเสียบและปุ่มต่างๆ
สมาร์ทโฟน 
  • ด้านซ้าย มีช่องเสียบ Micro USB และ Micro HDMI 
  • ด้านบน มีปุ่มเปิดปิดเครื่องและช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. 
  • ด้านขวา มีปุ่มปรับลดเสียง 
  • ด้านล่าง มีรูไมโครโฟน
  • ด้านใน (แกะฝาหลังตัวเครื่อง) มีช่องเสียบ microSD และ SIM การ์ด
แท็บเล็ต 
  • ด้านซ้าย มีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. กับปุ่มปรับลดเสียง
  • ด้านบน มีปุ่มเปิดปิดเครื่อง รูไมโครโฟน และปุ่มเลื่อนสำหรับเปิดฝาด้านหลังให้สมาร์ทโฟนเสียบ
  • ด้านขวา มีรูไมโครโฟน
คีย์บอร์ด Dock
  • ด้านซ้าย มีช่องเสียบ Dock สำหรับชาร์จตัวเครื่องและ USB
  • ด้านขวา มีช่องเสียบ USB และ SD การ์ด


กล้อง
กล้องหลังมีความละเอียด 8 ล้านพิกเซลมีออโต้โฟกัสและไฟแฟลช (ในวีดีโอรีวิวผมหาวิธีตั้งค่าออโต้โฟกัสไม่เจอครับ แต่เว็บนอกก็บอกว่ามีกันหมด) ภาพที่ได้ถ้าถ่ายในห้องแสงน้อยจะมืดไปหน่อย แต่ถ้าถ่ายสภาพแสงจากข้างนอกก็สว่างชัดดี

*อัพเดท มีคอมเมนท์จากคุณ Love Forever แนะนำว่าผมเปิดเป็นโหมดกลางคืนเอาไว้เลยออโต้โฟกัสเลยไม่ทำงานครับ ^^' ยังไงก็ต้องขอบคุณ คุณ Love Forever มากนะครับ




สภาพแสงข้างนอกส่องผ่านหน้าต่าง
บันทึกวีดีโอ 1080p ได้ ใน Youtube จะมีปุ่มเปลี่ยนคุณภาพอยู่ ลองเปลี่ยนไปเป็น 1080p ดูนะครับ


สภาพแสงจากหลอดไฟในห้อง

ปากกา Stylus Headset
ของเล่นอีกชิ้นสำหรับ ASUS PadFone ครับ เป็นปากกา Stylus ที่สามารถคุยโทรศัพท์แทนตัวสมาร์ทโฟนได้ เอาไว้ใช้กรณีที่เรารวมร่างกับแท็บเล็ตแล้ว จะได้ไม่ต้องถอดเอาสมาร์ทโฟนออกมาคุย หัวปากกาเป็นแบบทู่ตัวปากกามีน้ำหนักพอสมควร มีปุ่มเปิดปิดและเชื่อมต่อกับตัวเครื่อง ปุ่มปรับลดเสียง ช่องเสียบ Micro USB สำหรับชาร์จตัวปากกา รูลำโพง และรูไมโครโฟน

จากที่ได้ลองใช้งานรู้สึกว่าค่อนข้างลำบากกว่าใช้สมาร์ทโฟน เนื่องจากพื้นผิวในการจับน้อยเวลาถือแนบหูแล้วรู้สึกไม่ค่อยถนัดเท่าไร อีกอย่างบางครั้งก็พลาดเอานิ้วไปบังรูไมโครโฟนซะงั้น ช่วงแรกก็ตะกุกตะกักไม่น้อยแต่ก็ถือว่าดีกว่าไม่มีอะไรให้ใช้เลย



ซอฟต์แวร์
ASUS PadFone จะมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 4.0 Ice Cream Sandwich และจากที่ได้ทดลองใช้อยู่ 2-3 วันจนถึงวันถ่ายวีดีโอรีวิวก็รู้สึกว่าลื่นดีครับไม่ได้สะดุดอะไร แต่ทว่าพอมาดูวีดีโอที่ตัวเองรีวิวพบอาการหน่วงให้เห็น (ในวีดีโอดันบอกไปว่าลื่นสุดๆ ^^' ต้องมาอัดเสียงแก้กันใหม่ ฟังแล้วอาจจะแปลกๆไปสักนิด) อย่างตอนทดสอบเปิด Web Browser เวลา Scroll เลื่อนหน้าเว็บไปมาจะมีอาการหน่วงนิดนึงก่อนจะสไลด์แต่ตอนสไลด์ก็ทำได้เร็วมาก การเขียนโดยใช้ปากกา Stylus Headset ก็ลื่นมากเช่นกันลื่นกว่าตอนลอง Transformer Pad 300 ในส่วนของแท็บเล็ตเมื่อรวมร่างกับสมาร์ทโฟนแล้วเวลาใช้งานจะช้ากว่าตอนใช้สมาร์ทโฟนนิดหน่อย

โดยรวมผมว่าบางอย่าง (Web Browser) Transformer Pad 300 ที่ใช้ชิป NVIDIA Tegra 3 จะลื่นกว่า แต่ก็มีบางอย่าง (แอพ SuperNote เอาไว้จดโน๊ต) รู้สึกว่า ASUS PadFone จะเร็วกว่า

สำหรับการใช้งานสลับไปมาระหว่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต (ถอดสมาร์ทโฟนออกจากตัวแท็บเล็ตหรือ Dynamic Switching) ระบบจะมีการปรับความละเอียดของหน้าจอให้อัตโนมัติรวมถึงรูปแบบการแสดงผลให้เป็นเวอร์ชั่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตแบบทันทีทันใดโดยไม่ต้องปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ แต่ก็พบว่ามีบางแอพอย่างดูวีดีโอ Youtube บนแท็บเล็ตแล้วทำการถอดสมาร์ทโฟนออกมาพบข้อความขึ้นโชว์ว่าไม่รองรับการแสดงผลต้องเล่นวีดีโอ Youtube ใหม่อีกครั้ง คาดว่าอาจจะรองรับเฉพาะบางแอพอย่าง File Manager อันนี้ไม่มีปัญหาเปลี่ยนไปมาได้ทันทีครับ

การเล่นไฟล์ HD ผมทดลองเล่นผ่านทางแอพ MyNet นะครับ เป็นแอพสำหรับเล่นไฟล์ที่อยู่บนเครื่องอื่น ซึ่งอันนี้ผมทดสอบโดยการเล่นไฟล์ที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นไฟล์ HD ดูสดไม่ต้อง copy มาไว้บนเครื่องแต่อย่างใดผลออกมาก็ลื่นไหลเป็นปกติ



GPS
สำหรับ ASUS PadFone ตอนที่ผมทดสอบ GPS เกิดอาการเดียวกับตอนรีวิว Transformer Pad 300 เลยครับ คิดว่าน่าจะเป็นเพราะวันนั้นดันฝนตกหนักเมฆดำครึ้ม อีกอย่างผมอยู่ในตึกชั้นสองด้วย (ตึกแถวมีสามชั้น) เลยทำให้จับสัญญาณได้ยาก สุดท้ายต้องไปพึ่งเว็บ Engadget อีกรอบจากที่ลองอ่านดูเขาบอกว่าถ้าเป็นสมาร์ทโฟนจับสัญญาณ GPS ได้ดีใช้เวลาไม่เกิน 10 วินาที ส่วนโหมดแท็บเล็ตจะจับสัญญาณได้ยากกว่าแต่อย่างน้อยก็ยังสามารถใช้งานได้

ทดสอบประสิทธิภาพ
ด้วยแอพ Quadrant 
  • สมาร์ทโฟน ได้คะแนน 4235 สูงกว่า Transformer Prime TF201
  • แท็บเล็ต ได้คะแนน 4431 สูงกว่า Transformer Prime TF201 เช่นกัน


ระยะเวลาการใช้งาน
ผมมีเวลาทดสอบน้อยนิดเหลือเกิน เลยทดสอบได้เฉพาะสมาร์ทโฟนเท่านั้นจากรูปเริ่มต้นเปิด WiFi ตลอด
  • วันที่ 21 มิ.ย. เวลาตี 1:50 นาทีมีแบตอยู่ที่ 84%
  • วันเดียวกันเวลาบ่าย 3:51 นาทีมีแบตเหลืออยู่ที่ 24%
ประมาณ 14 ชั่วโมงแบตหดไป 60% ซึ่งตอนกลางคืนผมไม่ได้ใช้อะไรเท่าไรจะมีก็ช่วงตอนกลางวันใช้โทรศัพท์บ้าง ลงแอพบ้างเล็กน้อย


มาดูของเว็บ Engadget กันบ้าง เขาบอกว่าทดสอบโดยการเปิดวีดีโอวนลูปไปเรื่อยๆ พร้อมเชื่อมต่อ 3G และเปิด WiFi แต่ไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตปรับความสว่าง 50% สามารถใช้งานได้ตามนี้ครับ
  • เฉพาะสมาร์ทโฟน 6:15 ชั่วโมง
  • สมาร์ทโฟน + แท็บเล็ต 9:56 ชั่วโมง
  • สมาร์ทโฟน + แท็บเล็ต + คีย์บอร์ด 17:30 ชั่วโมง

วีดีโอรีวิว


สามารถปรับความละเอียดวีดีโอเป็น HD 720p ได้ที่ปุ่ม "เปลี่ยนคุณภาพ" ด้านล่างวีดีโอนะครับ

สมาร์ทโฟน
เริ่มต้น - แนะนำสเปคเบื้องต้น
นาทีที่ 1:42 - ทดลองใช้งาน แอพโทรศัพท์ แอพรายชื่อ
นาทีที่ 2:24 - ทดสอบ Web Browser 
(ตอนใช้งานรวมถึงถ่ายวีดีโอก็ไม่ได้รู้สึกหน่วงนะครับแปลก แต่พอมาดูวีดีโอดันเห็นอาการหน่วงก่อนทำการ Scroll หน้าเว็บ ทำให้ผมต้องอัดเสียงใหม่แก้ไขเข้าไป อาจจะฟังดูแปลกๆไปสักนิด)
นาทีที่ 3:01 - เมนูแจ้งเตือน Notification, โหมด Outdoor, เวอร์ชั่นระบบปฏิบัติการ
นาทีที่ 3:41 - แอพ Calculator, แอพ Calendar
นาทีที่ 4:16 - แอพ Camera (ในวีดีโอผมหาส่วนปรับค่าออโต้โฟกัสไม่เจอ แต่ข้อมูลจากเว็บนอกบอกว่ามีครับ)
นาทีที่ 5:11 - แอพ Clock ตั้งเวลาปลุก, แอพ Facebook, แอพ File Manager
นาทีที่ 6:18 - แอพ Gallery
นาทีที่ 7:15 - แอพแผนที่
นาทีที่ 7:43 - แอพ Movie Studio
นาทีที่ 8:05 - แอพ MyCloud, MyLibrary อ่านอีบุ๊ค, MyNet ทดสอบดูไฟล์ HD
นาทีที่ 10:57 - แอพ Music ฟังเพลง, Play Store โหลดแอพ
นาทีที่ 12:17 - แอพ Polaris Office สร้างแก้ไขไฟล์ Word, Excel, PowerPoint
นาทีที่ 14:20 - แอพ Talk, Stylus Headset, Youtube 
นาทีที่ 15:23 - MultiTask, จับภาพหน้าจอ

แท็บเล็ต
นาทีที่ 15:43 - รวมร่างกับแท็บเล็ต
นาทีที่ 16:35 - แอพ Facebook
นาทีที่ 17:00 - แอพโทรศัพท์, แนะนำปากกา Stylus Headset
นาทีที่ 18:41 - Web Browser
นาทีที่ 19:17 - แอพ File Manager, ลองถอดสมาร์ทโฟนออกจากแท็บเล็ต (Dynamic Switching)
นาทีที่ 20:04 - แนะนำแบตเตอรี่, โหมด Outdoor
นาทีที่ 21:04 - แอพแผนที่, แอพ MyLibraby อ่านอีบุ๊ค, แอพ MyNet ทดสอบดูไฟล์ HD
นาทีที่ 22:50 - แอพ Music ฟังเพลง
นาทีที่ 23:16 - แอพ Polaris Office สร้างแก้ไขไฟล์ Word, Excel, PowerPoint
นาทีที่ 25:08 - แอพ SuperNote

สรุป
ASUS PadFone ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีเจ้าไหนทำมาก่อน ด้วยไอเดียแปลกแหวกแนวไม่เหมือนใครสามารถรวมร่างสมาร์ทโฟนกับแท็บเล็ตช่วยเพิ่มระยะเวลาการใช้งานให้นานขึ้นอีกทั้งยังมีการชาร์จแบตเตอรี่ให้กับสมาร์ทโฟนไปในตัวด้วย นอกจากนี้ก็มีอุปกรณ์เสริมทั้งคีย์บอร์ดและปากกา Stylus Headset ช่วยในการพิมพ์ การเขียนและการคุยโทรศัพท์ ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีของให้เล่นเยอะหลายอย่างทำให้ตัวเครื่องดูน่าสนใจไม่น้อย 

อย่างไรก็ตามจากการใช้งานพบว่าความลื่นไหลยังมีบางจุดที่มีอาการหน่วงหรือกระตุกอยู่ ซึ่งถ้าเทียบกับ Transformer Pad 300 แล้ว Pad 300 จะลื่นกว่า (แต่อย่าเพิ่งคิดว่ามันไม่ลื่นนะครับ ลื่นครับเพียงแต่ยังไม่ดีที่สุด) ตัวเครื่องหนาและหนักไปหน่อยถ้ารวมครบ 3 ส่วนแล้วจะหนักกว่า Transformer ปกติทั่วไปอย่างรู้สึกได้ ส่วน Stylus Headset ไอเดียดีแต่เวลาคุยค่อนข้างลำบากหรืออาจจะเป็นเพราะไม่คุ้นเคยสักเท่าไรนัก

คะแนนตามความคิดผู้รีวิว เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 7.5/10
  • รูปร่างการออกแบบ : 7.5 - ไอเดียดีมีช่องด้านหลังแท็บเล็ตเอาไว้ให้สมาร์ทโฟนเสียบ จะติดก็ตรงที่ตัวเครื่องหนาและหนักไปหน่อย
  • วัสดุและฮาร์ดแวร์ : 7.5 - วัสดุดูไม่ออกว่าเป็นพลาสติกหรือไม่แต่โดยรวมก็ดูแข็งแรงดี งานประกอบเยี่ยม ส่วนชิปประมวลผล S4 ก็แรงแต่ยังสู้ Tegra 3 ไม่ได้
  • ฟีเจอร์เพิ่มเติมต่างๆ : 9 - สามารถรวมร่างสมาร์ทโฟนกับแท็บเล็ตได้ อีกทั้งยังมีคีย์บอร์ด Dock และปากกา Stylus Headset เอาไว้คุยสาย ช่องเสียบก็ครบทั้ง USB, micro HDMI, SD การ์ด แต่ที่ตัวแท็บเล็ตแทบจะไม่มีช่องอะไรเลยไปอยู่ที่สมาร์ทโฟนกับคีย์บอร์กันหมด
  • ซอฟท์แวร์ : 7 - รัน Android 4.0 Ice Cream Sandwich การใช้งานโดยรวมก็ลื่นดี แต่ยังไม่สุด ส่วนการสลับจากสมาร์ทโฟนเป็นแท็บเล็ตหรือ Dynamic Switching ก็ทำได้ดีถึงแม้จะไม่ได้รองรับแอพทั้งหมดก็ตาม
  • ความคุ้มค่า : 6.5 - ถ้าราคา 24,900 บาทได้แท็บเล็ต + สมาร์ทโฟน ผมรู้สึกว่ายังแพงเกินไปนิด
ขอขอบคุณบริษัท Asustek Computer (Thailand) จำกัด สำหรับเครื่องที่ให้ยืมในการรีวิวครั้งนี้